สองล้อจัดแข่งลู่แบบ New Normal วางมาตรการสุดเข้ม 22 ข้อ

“สองล้อ” จัดแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทยแบบ New Normal วิถิชีวิตใหม่แบบปกติของชาวจักรยาน ประเดิมสนามแรก วันที่ 12-14 มิถุนายน “เสธ.หมึก” วางมาตรการสุดเข้ม 22 ข้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกคนที่เข้าสนามเวลโลโดรมต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น…

สองล้อจัดแข่งลู่แบบ New Normal วางมาตรการสุดเข้ม 22 ข้อ

สองล้อจัดแข่งลู่แบบ New Normal วางมาตรการสุดเข้ม 22 ข้อ

“สองล้อ” จัดแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทยแบบ New Normal วิถิชีวิตใหม่แบบปกติของชาวจักรยาน ประเดิมสนามแรก วันที่ 12-14 มิถุนายน “เสธ.หมึก” วางมาตรการสุดเข้ม 22 ข้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกคนที่เข้าสนามเวลโลโดรมต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” และสแกน QR Code “ไทยชนะ” ด้านที่พักนักกีฬากับพื้นที่อบอุ่นร่างกายมีฉากพลาสติกกั้นเป็นสัดส่วน พร้อมจัดตั้งตู้ “ปั่นปันสุข” เลี้ยงอาหารนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ตลอดทั้ง 3 วัน รวมทั้งงดเก็บค่าสมัคร เพื่อเป็นการเยียวยา

 “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ เตรียมจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ควีนส์สิริกิติ์” ประจำปี 2563 สนามแรก ระหว่างวันที่ 12-14 มิ.ย. ที่สนามเวลโลโดรม หัวหมาก หลังจากรัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมาตรการผ่อนปรนให้กีฬากลางแจ้ง และกีฬาประเภทบุคคลทำการแข่งขันได้ โดยสมาคมฯ ได้วางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด พร้อมทำหนังสือแจ้งให้สโมสรสมาชิกและชมรมต่าง ๆ ที่จะส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันได้รับทราบแล้ว


 พลเอกเดชา กล่าวว่า สำหรับ มาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ระหว่างการจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่สนามแรก ทั้งหมด 22 ข้อ มีดังนี้ 1.นักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้ฝึกสอนของทุกชมรม ทุกสโมสร รวมทั้งผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ ทุกคน ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ลงในโทรศัพท์มือถือทุกคน เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยก่อนเข้าสนามต้องแสดงหลักฐานในแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากผู้ใดไม่ได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขัน และไม่ให้เข้าสนามเวลโลโดรม 



 “เสธ.หมึก” กล่าวต่อไปว่า การที่ให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” บนโทรศัพท์มือถือ เป็นการเก็บข้อมูลการเดินทางของแต่ละคน เพื่อประเมินความเสี่ยงว่าได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่ โดยให้ตอบคำถามประเมินอาการของตัวเอง ซึ่งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” จะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ 1.สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา, 2.สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา, 3.สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที และ 4.สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที


 2.ต้องสแกน QR Code แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” เช็คอินก่อนเข้าสนามเวลโลโดรม และเช็คเอาท์ก่อนออกจากสนามเวลโดลโดรม ซึ่งเป็นแคมเปญของกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกแบบมาเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานพื้นที่ชุมชน ในการบริหารจัดการและประมวลผลข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ตามมาตรการ “ไทยชนะ” ของรัฐบาล เพื่อให้ไทยชนะโควิด, 3.นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ต้องตรวจสอบรายชื่อที่แจ้งมายังสมาคมกีฬาจักรยานฯ โดยจำนวนนักกีฬากับเจ้าหน้าที่ประจำทีม จะมีสัดส่วน 3 ต่อ 1 คือ นักกีฬาจำนวน 3 คน อนุญาตให้มีเจ้าหน้าที่ประจำทีมได้ 1 คน นักกีฬา 6 คน จะมีเจ้าหน้าที่ได้ 2 คน แต่ถ้ามีนักกีฬา 5 คน จะมีเจ้าหน้าที่ได้เพียง 1 คน หรือหากมีนักกีฬา 9 คน จะมีเจ้าหน้าที่ได้ 3 คน แต่ถ้ามีนักกีฬา 8 คน ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ได้เพียง 2 คน เป็นต้น, 4.ต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิ และลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนตัวทุกคน (ชื่อ-นามสกุล, ไลเซ่น UCI, ที่อยู่, หมายเลขโทรศัพท์, เวลาเข้า-ออกสนามเวลโลโดรม), 5.ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในสนามเวลโลโดรม ยกเว้นระหว่างการอบอุ่นร่างกาย และระหว่างลงแข่งขัน


 6.ไม่อนุญาตให้มีผู้ชมบนอัฒจันทร์ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าหน้าที่ นักกีฬา ที่เข้าร่วมการแข่งขันเท่านั้น, 7.นักกีฬาที่ยังไม่ถึงเวลาแข่งขันให้นั่งรออยู่บนอัฒจันทร์ เมื่อใกล้ถึงเวลาลงแข่งขันให้ลงไปรอภายในเต้นท์ที่พักนักกีฬา ซึ่งสมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดเตรียมไว้ให้ โดยแต่ละเต้นท์จะมีฉากพลาสติกกั้นระหว่างเต้นท์ และให้นักกีฬากับเจ้าหน้าที่เข้าไปนั่งรอในเต้นท์ได้ไม่เกินครั้งละ 4 คน, 8.สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดเตรียมลูกกลิ้งสำหรับให้นักกีฬาฝึกซ้อมและอบอุ่นร่างกายจำนวน 20 ตัว ตั้งไว้ตามช่องที่กำหนดไว้เป็นสัดส่วน โดยเว้นระยะห่างการวางลูกกลิ้งช่องละ 2 เมตร และมีฉากพลาสติกกั้นระหว่างช่องทุกช่อง, 9.งดจัดพิธีเปิดการแข่งขัน เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนหมู่มาก ส่วนพิธีมอบรางวัลจะลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง เพื่อให้สั้นและกระชับที่สุด พร้อมทั้งไม่มีการสัมผัสมือและร่างกาย ระหว่างนักกีฬากับผู้มอบรางวัล, 10. ให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น

 11.สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ประจำไว้ที่จุดคัดกรอง, ภายในเต้นท์ที่พักนักกีฬา และบนอัฒจันทร์ สนามเวลโลโดรม, 12.ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปภายในห้องควบคุมการแข่งขันอย่างเด็ดขาด มีการจำกัดจำนวน ผู้ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ภายในห้องควบคุมเท่าที่จำเป็น, 13.สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายแพทย์ และพยาบาล พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน ประจำสนามตลอดการแข่งขัน เพื่อควบคุมดูแลนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่การแข่งขัน หากผู้ใดมีอาการเจ็บป่วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายแพทย์ และพยาบาล จะนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที, 14.ห้ามผู้ที่มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือเหนื่อยหอบ เข้าสนามเวลโลโดรมอย่างเด็ดขาด


 15.หลีกเลี่ยงการพูดคุยระยะใกล้ชิด หรือการพูดคุยเกินจำเป็นระหว่างอยู่ในสนามเวลโลโดรม, 16.เว้นระยะห่างกับคนอื่น  (Social distancing) ไม่น้อยกว่า 2 เมตร ตลอดเวลาที่อยู่ในสนามเวลโลโดรม, 17.ห้ามถ่มน้ำลาย หรือสั่งน้ำมูก ลงพื้น เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งได้, 18.สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะทำการล้างทำความสะอาดสนามเวลโลโดรม ก่อนการแข่งขัน และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันทุกวัน, 19.สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดตู้ “ปั่นปันสุข” ไว้ที่สนามเวลโลโดรม มีข้าวกล่อง น้ำดื่ม ผลไม้ เครื่องบริโภคต่าง ๆ เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือนักกีฬา-เจ้าหน้าที่ ซึ่งประสบความเดือดร้อนในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดตลอดการแข่งขันทั้ง 3 วัน อีกทั้งเป็นการลดความแออัดในการรับประทานอาหาร ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดต่อกัน


 20.นักกีฬาแต่ละทีมต้องอยู่ในพื้นที่ ที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ กำหนด (ที่พัก) ในระหว่างอบอุ่นร่างกายตามจำนวนทีมละไม่เกิน 4 คน ส่วนที่เหลือให้ขึ้นนั่งบนอัฒจันทร์ รักษาระยะห่างมีการเว้นเก้าอี้นั่ง 1 ตัว เว้น 2 ตัว ซึ่งจะมีเครื่องหมายกากบาทสีแดงติดไว้ที่เก้าอี้อย่างชัดเจน, 21.นักกีฬา และเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หากผู้ใดฝ่าฝืน สมาคมกีฬาจักรยานฯ สามารถเชิญให้ออกจากการแข่งขัน หรือเชิญออกจากสนามเวลโลโดรม ทันที, 22.นักกีฬาทุกคนที่จะเข้าสนามเวลโลโดรมได้ต้องมี ID การ์ดคล้องคอทุกคน มิฉะนั้นจะเข้าสนามไม่ได้

 พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า ช่วงที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นักกีฬาไม่สามารถออกไปปั่นจักรยานนอกบ้านได้ สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้จัดโครงการ “ปั่นในบ้าน ต้านโควิด” ขึ้นมา เพื่อให้นักกีฬาและประชาชนทั่วไปปั่นจักรยานอยู่ในบ้านของตัวเอง แต่อรรถรสในการปั่นก็ไม่เหมือนกับการแข่งขันในสนามจริง ดังนั้น สมาคมฯ จึงจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่ 1 ขึ้น โดยออกมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ตนลงมากำกับดูแลเองอย่างใกล้ชิด และกำชับให้ทุกคนยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เรียกได้ว่าเป็นวิถิชีวิตใหม่แบบปกติของชาวจักรยาน หรือ New Normal พื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อีกทั้งเป็นต้นแบบให้สมาคมกีฬาอื่น ๆ ได้ยึดถือเป็นมาตรฐานในการจัดการแข่งขันด้วย

 “ซูเปอร์หมึก คึกกว่า 5G” กล่าวเสริมว่า การแข่งขันครั้งนี้ สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดทำ ID การ์ด แยกตามประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ประเภทวีไอพี, คณะกรรมการจัดการแข่งขัน, นักกีฬา, เจ้าหน้าที่, คอมมิสแซร์ หรือ ผู้ตัดสิน โดยทุกคนต้องคล้องคอเอาไว้ตลอดเวลาที่อยู่ในสนามเวลโลโดรม นอกจากนี้ สมาคมฯ ก็ไม่ลืมที่จะเยียวยาบรรดานักกีฬา และเจ้าหน้าที่จากสโมสรต่าง ๆ ที่ประสบความเดือดร้อนในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ด้วยการยกเว้นการเก็บค่าสมัครแข่งขันในสนามที่ 1 ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังได้จัดตู้ “ปั่นปันสุข” ตั้งไว้ที่สนามเวลโลโดรม ภายในตู้จะมีข้าวกล่อง น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อให้นักกีฬาได้หยิบไปรับประทานตลอดการแข่งขันทั้ง 3 วันและสามารถนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ด้วย เป็นการเยียวยาอีกทางหนึ่ง

 ทั้งนี้ นักกีฬาที่ต้องการเข้าร่วมแข่งขันสามารถเข้าไปสมัครได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมกีฬาจักรยานฯ www.thaicycling.or.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ โทร.0-2719-3340-2.