สองล้อวางแผนพัฒนานักกีฬา-บุคลากรทั้งระบบ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพื่อก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ

สมาคมกีฬาจักรยานฯ วางแผนพัฒนานักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬาทั้งระบบ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ และเพื่อก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกจักรยานกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสร้างนักกีฬาดาวรุ่งขึ้นมาประดับวงการมากมาย ด้าน “พลเอกเดชา” เผย หากมีโครงการส่งเสริมและพัฒนากีฬาให้เยาวชน…

สองล้อวางแผนพัฒนานักกีฬา-บุคลากรทั้งระบบ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพื่อก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ

สองล้อวางแผนพัฒนานักกีฬา-บุคลากรทั้งระบบ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพื่อก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ

สมาคมกีฬาจักรยานฯ วางแผนพัฒนานักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬาทั้งระบบ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ และเพื่อก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกจักรยานกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสร้างนักกีฬาดาวรุ่งขึ้นมาประดับวงการมากมาย ด้าน “พลเอกเดชา” เผย หากมีโครงการส่งเสริมและพัฒนากีฬาให้เยาวชน ประชาชน และบุคลากรทางการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ เข้ามาสนับสนุนจะช่วยยกระดับให้ศูนย์ฝึกจักรยานมีศัยภาพในการปั้นนักกีฬาให้เป็นเลิศได้อย่างแน่นอน


“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบโครงการส่งเสริมและพัฒนากีฬาให้เยาวชน ประชาชน และบุคลากรทางการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ (โครงการนำร่อง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และมอบหมายให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกับ สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย จัดทำระเบียบการแข่งขันกีฬา ในการจัดการแข่งขันระดับอำเภอ จำนวน 77 อำเภอ (จังหวัดละ 1 อำเภอ รวมเขต กทม.)


พลเอกเดชา กล่าวว่า ในส่วนของกีฬาจักรยาน มีผู้สอบถามมายังสมาคมกีฬาจักรยานฯ เป็นจำนวนมาก ว่าสมาคมฯ มีแผนจัดการแข่งขันร่วมกับโครงการดังกล่าวด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ชี้แจงไปว่า หากคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ กกท. เห็นชอบให้สมาคมกีฬาจักรยานฯ เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย สมาคมฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งปัจจุบันนี้ สมาคมฯ ก็ได้ดำเนินการพัฒนานักกีฬาและบุคคลากรทางการกีฬาอย่างเป็นระบบ ด้วยการตั้งศูนย์ฝึกจักรยานกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ภาคเหนือตอนล่าง ศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ กองบิน 46 พิษณุโลก ที่มี “โค้ชเนิ่ม” สิบเอกเนิ่ม ชมภูศรี เป็นผู้ฝึกสอน, ภาคกลาง ศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ วัดดงน้อย จ.ลพบุรี ที่มี “โค้ชโจ้” พ.ต.ท.จิระศักดิ์ นะทะแก้ว เป็นผู้ฝึกสอน, ภาคใต้ ศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ จ.สุราษฎร์ธานี ที่มี “โค้ชเกียรติ” สิบเอกธนาชัย ฉันฉายา เป็นผู้ฝึกสอน เป็นต้น


นายกสมาคมกีฬาจักรยานฯ กล่าวอีกว่า แต่ละศูนย์ฝึกก็จะสร้างนักกีฬาขึ้นมาทั้งประเภทลู่ ถนน เสือภูเขา และบีเอ็มเอ็กซ์ โดยสมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้นักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทยทุกประเภท ซึ่งตามปกติแล้ว สมาคมฯ จะจัดการแข่งขันตลอดทั้งปี ประเภทละ 5 สนาม อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฝึกต่าง ๆ ยังขาดแคลนเรื่องของงบประมาณ อุปกรณ์การฝึกซ้อม วิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้นักกีฬา หากโครงการส่งเสริมและพัฒนากีฬาให้เยาวชน ประชาชน และบุคลากรทางการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ (โครงการนำร่อง) เข้ามาสนับสนุนศูนย์ฝึกเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะช่วยพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ที่ผ่านมาศูนย์ฝึกจักรยานตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้สร้างนักกีฬาช้างเผือกขึ้นมาประดับวงการมากมาย เช่น นายพลวัต แซ่เฮ้อ นักปั่นชาติพันธุ์ จากศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ กองบิน 46 พิษณุโลก ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ และฐานะครอบครัวยากจน แต่มาฝึกขี่จักรยานจนได้รับรางวัลมากมาย และจะเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติต่อไปในอนาคต


“เสธ.หมึก” กล่าวต่อไปว่า ด้านศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ วัดดงน้อย จ.ลพบุรี ก็มีนักกีฬาที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง “สาวน้อยมหัศจรรย์” นัฐนันท์ นนทะแก้ว ลูกสาวของ พ.ต.ท.จิระศักดิ์ นะทะแก้ว และ “โตมร” พูนศิริ ศิริมงคล นักปั่นเยาวชนทีมชาติ เจ้าของเหรียญเงิน ครอสคันทรี่ ทีมรีเลย์ ในการแข่งขันกีฬาจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 26 ที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ส่วนด้านการพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดอบรมผู้ฝึกสอนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีวิทยากรชั้นนำจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) มาให้ความรู้ จากนั้นผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรมแล้วก็จะนำความรู้ใหม่ ๆ ไปถ่ายทอดให้แก่นักกีฬาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


พลเอกเดชา กล่าวเสริมอีกว่า จะเห็นได้ว่าสมาคมกีฬาจักรยานฯ มีแผนพัฒนานักกีฬาและบุคลากรอย่างเป็นระบบ โดยได้ใช้งบของสมาคมฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์ฝึกเหล่านี้ เพื่อสร้างนักกีฬาดาวรุ่งขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ศูนย์ฝึกจักรยานต่าง ๆ ยังขาดแคลนก็คืองบประมาณในการดำเนินงาน รวมทั้งอุปกรณ์ในการฝึกซ้อม และด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำให้การพัฒนานักกีฬายังทำได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม โครงการส่งเสริมและพัฒนากีฬาให้เยาวชน ประชาชน และบุคลากรทางการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง ไม่ว่าในรูปแบบการจัดการแข่งขัน หรือการสนับสนุนด้านอื่น ๆ ก็จะช่วยยกระดับให้ศูนย์ฝึกจักรยานฯ เหล่านี้มีศัยภาพในการปั้นนักกีฬาให้เป็นเลิศ และต่อยอดไปสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ เพื่อสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติต่อไป.