สองล้อพร้อมจัดการแข่งขันแบบ New Normal เน้นประเภทบุคคล ไม่จัดประเภททีม ส่วนสองล้อ “ญวน” เจ้าภาพซีเกมส์ เก็บตัวฝึกซ้อมและแข่งขันในประเทศมากว่า 3 เดือนแล้ว

 เพื่อหวังความเป็นเจ้าเหรียญทอง ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับเชิญจากคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19…

สองล้อพร้อมจัดการแข่งขันแบบ New Normal เน้นประเภทบุคคล ไม่จัดประเภททีม ส่วนสองล้อ “ญวน” เจ้าภาพซีเกมส์ เก็บตัวฝึกซ้อมและแข่งขันในประเทศมากว่า 3 เดือนแล้ว

สองล้อพร้อมจัดการแข่งขันแบบ New Normal เน้นประเภทบุคคล ไม่จัดประเภททีม ส่วนสองล้อ “ญวน” เจ้าภาพซีเกมส์ เก็บตัวฝึกซ้อมและแข่งขันในประเทศมากว่า 3 เดือนแล้ว

 เพื่อหวังความเป็นเจ้าเหรียญทอง ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31


“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับเชิญจากคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปร่วมประชุมเรื่อง “แนวทางการจัดการแข่งขันกีฬา ในสถานการณ์โควิด-19” ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมี พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงาน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ จากกรมควบคุมโรค ในฐานะเลขาธิการคณะทำงาน และคณะกรรมการตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมประชุม


พลเอกเดชา กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าว มี “รองตูน” นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ เข้าร่วมประชุมด้วย สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้มอบหมายให้ นายณัฐพงศ์ โลหิตนาวี ประธานฝ่ายเทคนิค และ “โค้ชตั้ม” พันจ่าอากาศเอก วิสุทธิ์ กสิยะพัท หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย เข้าร่วมชี้แจงถึงมาตรการการจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่, ถนน และ เสือภูเขา ชิงแชมป์ประเทศไทย โดยสมาคมฯ ได้วางแผนจัดการแข่งขันแบบ New Normal ด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด 22 ข้อ พร้อมกับได้ปรับรายการแข่งขันให้มีเฉพาะประเภทบุคคลเท่านั้น


นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า ระหว่างการประชุม นายณัฐวุฒิ รองผู้ว่าการ กกท. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กกท. วางมาตรการผ่อนปรนทางกีฬาเอาไว้ 3 ประเภท คือ 1.การฝึกซ้อม, 2.การแข่งขันที่มีระบบควบคุมหรือระบบปิด, 3.การแข่งขันที่ใกล้เคียงกับความจริง โดยได้เริ่มทดลองผ่อนปรนให้มีการฝึกซ้อมมาตั้งแต่เดือน พ.ค. หากไม่มีการติดเชื้อ ก็จะเริ่มให้กีฬาที่มีความเสี่ยงน้อยแข่งขันได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. โดยให้แข่งขันแบบมีระบบควบคุม หรือแบบปิด ไม่มีคนดู ส่วนกีฬาที่มีความเสี่ยงปานกลาง อาจจะเริ่มได้ในเดือน ก.ค. และกีฬาที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะเริ่มในเดือน ส.ค. ส่วนการแข่งขันในระดับนานาชาติ ให้เริ่มเดือน ต.ค. แต่ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ในส่วนของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้พิจารณาแล้วว่า การแข่งขันจักรยานประเภทลู่ จะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะจัดแข่งขันเฉพาะประเภทบุคคล ด้านประเภทถนน ก็แข่งขันเฉพาะไทม์ไทรอัล (ประเภทบุคคล) ที่ปล่อยตัวนักกีฬาทีละคน ด้านเสือภูเขา ประเภทดาวน์ฮิล คงไม่มีปัญหา เพราะปล่อยตัวทีละคนอยู่แล้ว ส่วนประเภทครอสคันทรี่ จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันใหม่ เป็นการแข่งขันไทม์ไทรอัล (ประเภทบุคคล) ปล่อยตัวทีละคน เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันแบบ New Normal


“เสธ.หมึก” กล่าวต่อไปว่า พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ ประธานในที่ประชุม ได้กำชับมาว่า หากจะจัดแข่งขันกีฬาต้องยึดมาตรการหลัก 5 ข้อ อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย 1.มีการตรวจวัดไข้ และทำความสะอาดสถานที่, 2.สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า, 3.เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร 4.จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ และ 5.งดกิจกรรมรวมตัวหมู่มาก พร้อมกับได้มอบหมายให้ นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการ กกท. และ นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ เลขาธิการคณะทำงาน ร่วมกันวางแผนการจัดการแข่งขันกีฬาทั้งระยะสั้น และระยะยาว แล้วส่งให้คณะทำงานเพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ได้แจ้งให้สมาคมกีฬาจักรยานฯ แก้ไขรูปแบบการแข่งขันบางรายการให้รัดกุมขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันประเภทลู่ให้มีเฉพาะประเภทบุคคล


ทั้งนี้ สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับข้อเสนอแนะมาปรับปรุงรูปแบบการแข่งขันใหม่เป็นแบบ New Normal เรียบร้อยแล้ว ดังนี้ การแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ควีนส์สิริกิติ์” ประจำปี 2563 จะจัดแข่งขันเฉพาะประเภทบุคคลเท่านั้น มี 5 ประเภท ได้แก่ 1.ไทม์ไทรอัลบุคคล, 2.เปอร์ซูตบุคคล, 3.ไทม์ไทรอัล 200 เมตร บุคคล, 4. TCA สปรินท์ (บุคคล), 5. One Lap สปรินท์ (บุคคล) ซึ่งการแข่งขันรายการ TCA สปรินท์ (บุคคล) และ One Lap สปรินท์ (บุคคล) เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นเฉพาะกิจในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด โดยทั้ง 5 รายการที่จะจัดขึ้นนั้น จะมีการรักษาระยะห่างของนักกีฬา และไม่มีปะทะกัน ตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

สำหรับกำหนดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์สิริกิติ์” จำนวน 4 สนาม กำหนดไว้ดังนี้ สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย., สนามที่ 2 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ค., สนามที่ 3 ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค. และ สนามที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. ที่สนามเวลโลโดรม หัวหมาก ทั้ง 4 สนาม


ขณะที่การแข่งขันจักรประเภทถนนชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์ภูมิพล” และการแข่งขันจักรยานประเภทเสือภูเขาชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2563 สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ดำเนินการจัดการแข่งขันแล้วจำนวน 2 สนาม ได้แก่ สนามที่ 1 ที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 17-19 ม.ค. ที่ผ่านมา, และ สนามที่ 2 ที่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ.- 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่วนสนามที่ 3 กำหนดที่จะจัดการแข่งขัน ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค. จัดในรูปแบบใหม่ (New Normal) โดยจักรยานถนนจะจัดแข่งขันเฉพาะประเภทบุคคลไทม์ไทรอัล ปล่อยตัวนักกีฬาครั้งละ 1 คน เว้นระยะห่างกันคนละ 1 นาที ซึ่งจะมีระยะทางห่างกันประมาณ 800 เมตร ส่วนจักรยานเสือภูเขา ประเภทดาวน์ฮิล (บุคคล) ไม่มีปัญหาเรื่องระยะห่าง เพราะตามปกติเราจะปล่อยตัวทีละคน เว้นระยะห่างกันคนละ 1 นาที นักกีฬาจะมีระยะทางห่างกันประมาณ 1 กม. ด้านประเภทครอสคันทรี่ จะปรับมาแข่งขันประเภทบุคล ในรูปแบบไทม์ไทรอัล ปล่อยตัวทีละคน เว้นระยะห่างกันคนละ 1 นาที จะมีระยะห่างของนักกีฬาประมาณ 1,000 เมตร

พลเอกเดชา กล่าวเสริมอีกว่า หลังจากฝ่ายเทคนิคสมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้เข้าไปชี้แจงกับคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้รับข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไขแผนการจัดการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งแผนการจัดแข่งขันที่ปรับปรุงแล้วไปยัง นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการ กกท. และ นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ เลขาธิการคณะทำงานฯ เพื่อให้พิจารณากำหนดการแข่งขันให้เป็นไปตามโปรแกรมที่กำหนด แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะทำงานฯ ที่มี พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นประธาน สมาคมกีฬาจักรยานฯ ขอความอนุเคราะห์จากคณะทำงานฯ ช่วยพิจารณาแผนงานที่นำเสนอ เพื่อที่จะได้ดำเนินการต่อไป

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศเวียดนาม ที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 พ.ย.-2 ธ.ค.2564  ปรากฏว่าประเทศเวียดนามได้ให้นักกีฬาเก็บตัวฝึกซ้อม ตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา และมีการแข่งขันพร้อมถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กของสมาคมจักรยานเวียดนาม ซึ่งเราได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด และได้สังเกตว่าเขามีการฟิตซ้อม และเตรียมการเป็นอย่างดี เมื่อหันกลับมามองสมาคมกีฬาจักรยาน แห่งประเทศไทย นักกีฬาเพิ่งจะได้ฝึกซ้อม แต่สมาคมฯ ไม่สามารถที่จัดการแข่งขันได้ นับว่าเป็นการเสียโอกาส ที่เราเคยเป็นหนึ่ง ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทัพนักปั่นไทยสามารถครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง ได้มา 6 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง ขณะเดียวกันประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ก็เริ่มเก็บตัวฝึกซ้อมและแข่งขันเช่นเดียวกับประเทศเวียดนาม สมาคมกีฬาจักรยานฯ จึงขอความอนุเคราะห์จากคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายฯ รวมทั้ง การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยรักษาความเป็นเจ้าเหรียญทองจักรยานในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ให้จงได้ หากเราไม่มีความเคลื่อนไหว โอกาสที่จะเป็นเจ้าเหรียญทองคงมืดมน” พลเอกเดชา กล่าวเสริมในตอนท้าย.