ประธานสมาคมจักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอ) ประกาศวางมือในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังจบซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม พร้อมยกย่อง “พลเอกเดชา เหมกระศรี” นายกสองล้อไทย เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในการดำรงตำแหน่งประธานคนต่อไป กลางที่ประชุมใหญ่ “เอซีเอ” ในเมืองตาเกไตย์ ประเทศฟิลิปปินส์ ด้านทีมปั่นถนนเจอพายุ “คัมมูริ” ถล่มจนกระจกในโรงแรมที่พักแตกกระจาย มีทั้งฝนและลมกรรโชกอย่างรุนแรง ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปจากกำหนดการเดิมอีก 1 วัน เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลาย ขณะที่ “เพชรดารินทร์-จันทร์เพ็ง-ธนาคาร-ภุชงค์” คึกคักพน้อมประเดิมลงชิงชัย 2 ทองแรกในประเภทไทม์ไทรอัลบุคคลชาย-หญิง
ความเคลื่อนไหวของการแข่งขันจักรยาน ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปินส์ ซึ่งสนามชิงชัยจักรยานทุกประเภทอยู่ที่เมืองตาเกไตย์ บนเกาะลูซอน ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีพายุไต้ฝุ่น “คัมมูริ” พัดเข้าทางตอนใต้ของเกาะลูซอน มีฝนตกลงมาตลอดทั้งวัน และลมกรรโชกแรงจนต้นไม้ไหวเอนน่ากลัว ถึงขนาดกระจกห้องรับประทานอาหารของโรงแรมซัมมิต ซึ่งเป็นที่พักของนักกีฬาจักรยานของทุกประเทศหลุดออกแตกกระจายเพราะความแรงของลม
จากเดิมคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ได้กำหนดให้มีการประชุมผู้จัดการทีมจักรยานถนน ในวันที่ 3 ธ.ค. และจะมีการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 4-7 ธ.ค. แต่เนื่องด้วยมีพายุเข้า จึงมีมติว่า ให้เลื่อนการประชุมผู้จัดการทีมออกไปเป็นวันที่ 4 ธ.ค. และเลื่อนการแข่งขันเป็นระหว่างวันที่ 5-8 ธ.ค. แทน เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลาย และความแรงของพายุทุเลาเบาบางลง
ด้าน พันจ่าอากาศเอก วิสุทธิ์ กสิยะพัท หัวหน้าผู้ฝึกสอนจักรยานถนนทีมชาติไทย เปิดเผยว่า จากที่ได้ฟังพยากรณ์อากาศของทางฟิลิปปินส์แล้ว ก็เลยวางแผนการฝึกซ้อมเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันก่อน คือให้ซ้อมกับถนนเที่ยวสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. และในวันที่ 3 ธ.ค. ให้นักกีฬาซ้อมกับลูกกลิ้ง หรือ เทรนเนอร์ อยู่ในห้องพัก เพราะไม่สามารถออกไปไหนได้ เนื่องจากลมพัดแรงมากจนตัวคนเกือบปลิว อีกทั้งฝ่ายรักษาความปลอดภัยของทางเจ้าภาพก็ไม่ให้ออกไปไหนด้วย ส่วนสภาพจิตใจของนักกีฬาตอนนี้มีความฮึกเหิม และกระหายที่จะลงแข่งขันกันทุกคน สภาพร่างกายก็สมบูรณ์ 100% พร้อมลงชิงชัยอย่างเต็มที่
สำหรับการแข่งขันกีฬาจักรยานประเภทถนน จะเปิดฉากวันแรก ในวันที่ 5 ธ.ค. มีชิง 2 เหรียญทอง จากประเภท ไทม์ไทรอัลบุคคลหญิง ซึ่งไทยส่งนักกีฬา 2 คน คือ สิบตรีหญิง เพชรดารินทร์ สมราช กับ ร้อยเอกหญิง จันทร์เพ็ง นนทะสิน และ ไทม์ไทรอัลบุคคลชาย นายธนาคาร ไชยาสมบัติ กับ จ่าอากาศโท ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์
อนึ่ง เมื่อช่วงสายของวันที่ 3 ธ.ค. สมาคมจักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอ) ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญขึ้น ที่โรงแรมทาอัล วิสต้า ในเมืองตาเกไตย์ โดยมี มร.อาบูซามา วาฮับ ประธานสมาคมจักรยานแห่งอาเซียน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะรองประธาน “เอซีเอ” คนที่ 1 และชาติสมาชิกในอาเซียนอีก 7 ชาติ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์, ลาว, อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ส่วนอีก 4 ชาติ ได้แก่ เมียนมา, กัมพูชา, บรูไน และ ติมอร์เลสเต ไม่ได้เข้าร่วมประชุม
สำหรับสาระสำคัญในการประชุมสรุปได้ดังนี้ มร.วาฮับ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า สมาคมจักรยานแห่งอาเซียน ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งตนเองก็ดำรงตำแหน่งประธานมานาน ปีนี้อายุ 78 ปีแล้ว ก็จะขอดำรงตำแหน่งนี้อีก 1 วาระ ไปจนถึงการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ในปี 2021 (พ.ศ.2564) และก็จะขอวางมือ ดังนั้นตนเองจึงขอแนะนำต่อที่ประชุมว่า พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานสมาคมจักรยานแห่งอาเซียนคน ต่อไป เนื่องจากมีคุณสมบัติ มีความรู้ และความสามารถ ในกีฬาจักรยานทั้งของอาเซียนและเอเชียเป็นอย่างดี
หลังจากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้แต่ละชาติได้เสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย เสนอว่าอยากให้อาเซียนจับมือกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วร่วมกันจัดการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์อาเซียน หรือ “อาเซียน คัพ” ขึ้นทุกประเภท ทั้งถนน, ลู่, เสือภูเจา และบีเอ็มเอ็กซ์ จากข้อเสนอดังกล่าวนี้ ทุกชาติต่างเห็นด้วยทุกประการ
ฝ่ายประเทศไทย พลเอกเดชา ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า สมาคมกีฬาจัการยานแห่งประเทศไทยฯ มีการพัฒนาไปด้วยกันทั้งระบบ มีการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคคลากรมากมาย ทั้งอบรมผู้ตัดสิน อบรมผู้ฝึกสอน รวมทั้งจัดการแข่งขันรายการชิงแชมป์ภายในประเทศตลอดทั้งปี และระดับชิงแชมป์เอเชีย หรือนานาชาติ อีกหลายรายการ ในปี 2020 นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์เอเชีย ระหว่างวันที่ 1-5 ก.พ. ที่ จ.เชียงราย ซึ่งก่อนการแข่งขันจะมีการอบรมผู้ตัดสินจักรยานเสือภูเขาระดับชาติด้วย จึงขอเชิญชาติสมาชิกส่งตัวแทนมาเข้าร่วมอบรม โดยการอบรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) และสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (เอซีซี)
นอกจากนี้ สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ ศูนย์ฝึกจักรยาน Continental Cycling Center Shuzenji ประเทศญี่ปุ่น (C.C.C. Shuzenji) จัดการอบรม หลักสูตรจักรยานประเภทลู่ Mobile Sub-Center (Training Camp) ระหว่างวันที่ 24 ก.ย.-1 ต.ค. 2020 ก่อนที่จะมีการแข่งขันจักรยานประเภทลู่นานาชาติ รายการ “UCI Track Asia Cup 2020” ที่ จ.สุพรรณบุรี ชาติสมาชิกที่สนใจส่งนักกีฬาและผู้ฝึกสอนเข้าร่วมอบรมก็สามารถติดต่อได้ที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ
ขณะที่ประเทศเวียดนาม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ในอีก 2 ปีข้างหน้า เวียดนามจะจัดการแข่งขันจักรยานเพียง 2 ประเภท คือ จักรยานถนน และจักรยานเสือภูเขา เนื่องจากอีกสองประเภทคือ บีเอ็มเอ็กซ์ และลู่ เวียดนามไม่มีสนาม กับ เวลโลโดรม โดยประเภทถนนจะจัดครบทุกรายการ ส่วนเสือภูเขา นอกจากครอสคันทรี่ และดาวน์ฮิล ก็จะมี เสือภูเขาเอลิมิเนชั่น (XCE) เพิ่มมาอีก 1 รายการ
หลังการประชุม ทางตัวแทนเวียดนามได้เข้ามาหารือกับ พลเอกเดชา ว่าขอให้ทางประเทศไทยช่วยสนับสนุนเรื่องจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ เช่น การส่งนักกีฬาบีเอ็มเอ็กซ์มาฝึกในประเทศไทย หรือส่งผู้ฝึกสอนไทย ไปสอนนักกีฬาของเวียดนาม ซึ่งพลเอกเดชา ก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ เพราะสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ กับ สมาคมจักรยานเวียดนาม มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมายาวนานกว่า 20 ปี
ดังนั้นเพื่อให้กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 มีการแข่งขันจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ พลเอกเดชา จึงแจ้งกับทางเวียดนามไปว่า ไทยพร้อมให้การช่วยเหลือในการก่อสร้างสนามแข่งขันจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ เนื่องจากใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน และใช้งบประมาณที่ไม่สูงมากนัก อีกทั้งประเทศไทยมีการพัฒนากีฬาจักรยานขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสนามแข่งขันหลายแห่ง พลเอกเดชา จึงรับปากจะให้ความช่วยเหลือเวียดนามอย่างเต็มที่
ส่วนทางเวียดนาม ได้กล่าวว่า หลังจบการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ แล้ว จะเชิญ พลเอกเดชา และคณะเดินทางไปยังประเทศเวียดนาม เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือและการให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ นี้โดยละเอียด
พลเอกเดชา ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นที่ทัพนักกีฬาไทยเผชิญอยู่ว่า เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งดังที่ตนเคยเรียนให้ทราบตั้งแต่ก่อนจะเดินทางมาแข่งขันแล้วว่าสภาพแวดล้อมเป็นตัวแปรสำคัญต่อความหวังเหรียญทอง แม้ว่านักกีฬาของเราจะพร้อมเพียงใด แต่หากเจอสภาพแวลดล้อมที่ไม่ดี เช่น สภาพลมฟ้าอากาศที่ไม่เป็นใจ หรือการที่เจ้าภาพปรับเปลี่ยนโปรแกรมแข่งขันจนวุ่นวายไปหมด อย่างที่ทีมเสือภูเขาประสบพบเจอ ก็เป็นตัวแปรสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้นักกีฬาเสียสมาธิ หรือเกิดความร้อนรน ซึ่งไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นกับนักกีฬาไทยเท่านั้น ชาติอื่น ๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขอให้พ่อแม่พี่น้องชาวไทยส่งแรงใจมาเชียร์นักกีฬาไทยทั้งประเภทถนนและบีเอ็มเอ็กซ์กันมาก ๆ เพื่อจะได้มีกำลังใจสู้เพื่อประเทศชาติต่อไป